คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อยด้านการขนส่ง

การขนส่งสินค้า มีกี่รูปแบบ

การขนส่งสินค้ามี 3 รูปแบบหลัก

1) การขนส่งทางบก การขนส่งทางรถยนต์หรือทางรถบรรทุกถือว่าเป็นหัวใจของการขนส่งทางบกทั้งนี้ในปัจจุบันได้มีถนนเพิ่มมากขึ้น ขยายถนนเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดต่างๆได้อย่างทั่วถึงโดยมีกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางการขนส่งซึ่งการขนส่งทางรถยนต์หรือทางรถบรรทุกนั้นสามารถแก้ปัญหาในด้านการจำหน่ายสินค้าเพราะการขนส่งสินค้าสะดวกรวดเร็วสามารถส่งสินค้าไปถึงผู้ใช้ได้โดยตรง

2) การขนส่งทางน้ำ การขนส่งที่ใช้ค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด มักใช้สินค้าที่ราคาต่อหน่วยไม่สูง มีปริมาณและน้ำหนักมากเช่น ไม้ซุง ข้าว ทราย เรือบรรทุกสินค้ามักมีระวางความจุสูงบรรทุกของได้มาก เหมาะกับการขนส่งระยะไกล

3) การขนส่งทางอากาศ การขนส่งทางอากาศเป็นการขนส่งที่ให้ความรวดเร็วกว่าการขนส่งประเภทอื่นๆ และสามารถขนส่งสินค้าในระยะทางไกลๆ ได้อย่างรวดเร็ว เป็นวิธีการที่รวดเร็วที่สุด แต่ก็มีราคาแพงที่สุดจึงนิยมใช้กับการขนส่งที่มีข้อจำกัดทางด้านเวลา

รูปแบบของการว่าจ้างขนส่งสินค้าทางทะเล มีกี่ประเภท

มี 2 ประเภท

1) LINER TERN คือการว่าจ้างขนส่งสินค้าโดยเรือที่มีตารางเดินเรือที่วิ่งประจําเส้นทาง ซึ่งประกอบด้วยเรือ 3 แบบด้วยกันคือ

• Convention Vessel เรือสินค้าอเนกประสงค์แบบดั้งเดิม ทําการขนส่งสินค้าโดยการบรรทุกสินค้าลงในระวางเรือใหญ่ ส่วนใหญ่ใช้ในการขนสินค้าแบบเทกอง (Bulk Cargo) มักมีเส้นทางเดินเรือแบบจากเมืองท่าต้นทางถึงเมืองท่าปลายทาง (End to end) • Container Vessel คือเรือสินค้าที่ทําการขนส่งโดยระบบตู้คอนเทนเนอร์ มักมีเส้นทางเดินเรือแบบเครือข่าย (Network service) หรือเส้นทางเดินเรือแบบรอบโลก (Round the world service) โดยใช้เรือแม่ขนาดใหญ่ (Mother Vessel) วิ่งให้บริการเฉพาะเมืองท่าหลักที่เป็นฐานการให้บริการ เช่นเมืองท่า Singapore แล้วใช้เรือลูก (Feeder) ขนตู้คอนเทนเนอร์จากเมืองท่าหลักไปยังเมืองท่ารองหรือเมืองท่าปลายทาง เช่น ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง เป็นต้น

• Semi container Vessel คือเรือสินค้าที่มีรูปแบบการขนส่งผสมผสานระหว่างเรือ Conventional กับเรือContainer กล่าวคือ เป็นเรือสินค้าที่สามารถบรรทุกสินค้าลงในระวางส่วนหนึ่งและมีพื้นที่บนเรือที่จะวางตู้คอนเทนเนอร์ได้อีกส่วนหนึ่ง มักมีเส้นทางเดินเรือแบบเมืองท่าต้นทางถึงเมืองท่าปลายทาง

2) Charter Term คือ การว่าจ้างขนส่งสินค้าโดยเรือที่เช่ามาขนส่งสินค้าเป็นเที่ยวๆ เป็นเรือที่ไม่มีตารางเดินเรือและเส้นทางเป็นการตายตัว เรียกว่าการเช่าเรือ ซึ่งแบ่งการเช่าออกเป็น 4 ลักษณะคือ

• Voyage Charter เป็นการเช่าเหมาเรือแบบเที่ยวเดียว เพื่อขนส่งสินค้าที่กําหนด ส่วนใหญ่เป็นการเช่าเหมาเรือทั้งลํา เพื่อขนส่งสินค้าจากท่าเรือแห่งหนึ่งไปยังท่าเรืออีกแห่งหนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการเดินเรือเป็นภาระของเจ้าของเรือที่จะต้องรับผิดชอบ ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาเช่าเหมาเรือที่ได้ทํากันไว้ระหว่างเจ้าของเรือกับผู้เช่าเรือ

• Time Charter เป็นการเช่าเหมาเรือแบบระยะเวลา ผู้เช่าเหมาเรือจะได้สิทธิในการใช้เรือในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เจ้าของเรือมีหน้าที่ที่จะต้องทําให้เรืออยู่ในสภาพที่จะใช้งานได้เท่านั้น ส่วนค่าใช้จ่ายในการเดินเรือตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาการเช่าเหมาเรือ จะตกเป็นภาระของผู้เช่าเรือที่จะต้องรับผิดชอบ

• Bareboat Charter เป็นการเช่าเหมาเรือเฉพาะตัวเรือเปล่าๆ ไม่รวมลูกเรือ มักเป็นการเช่าเหมาเรือในระยะเวลาที่ยาวนาน เจ้าของเรือจะรับภาระเฉพาะการหาเรือมาให้แก่ผู้เช่าเรือ ส่วนค่าใช้จ่ายในการเดินเรือตลอดจนการทําให้เรือสามารถปฏิบัติงานได้เป็นภาระของผู้เช่าเรือ

• Hybrid Charter เป็นการเช่าเหมาเรือแบบผสมผสานกัน เช่น การเช่าเหมาเรือเที่ยวเดียวอย่างต่อเนื่องและการเช่าเหมาเรือที่ผสมระหว่างการเช่าแบบเที่ยวเดียวและการเช่าแบบระยะเวลา ข้อแตกต่างระหว่าง LINER VESSEL กับ CHARTER VESSEL ข้อแตกต่างระหว่างการขนส่งสินค้าด้วยเรือที่มีตารางเดินเรือประจําและเรือเช่าเหมา

ประเภทเรือสินค้า (VESSEL) มีกี่ประเภท

เรือสินค้า มี 4 ประเภท

• เรือสินค้าประเภท กอง(Bulk Carrier)

• เรือสินค้าประเภท หีบห่อ (Break-Bulk Vessels)

• เรือสินค้าบรรจุตู้ (Container Vessels)

• เรือสินค้า RO-RO ใช้ระบบลากแคร่บรรจุสินค้า

ตู้สินค้าสำหรับขนส่งสินค้า มีกี่ประเภท

ตู้สินค้ามี 4 ประเภท

1) Dry Cargoes เป็นตู้ที่ใส่สินค้าทั่วไปที่มีการบรรจุหีบห่อหรือภาชนะต้องเป็นสินค้าที่ไม่ต้องการรักษาอุณหภูมิ โดยสินค้าที่เข้าตู้ล้วจะต้องมีการจัดทำที่กั้นไม่ให้มีสินค้าเลื่อนหรือขยับ หากใช้เป็นเชือกไนลอนรัดหน้าตู้ ก็จะเรียกว่า Lashing

2) Refrigerator Cargoes เป็นตู้สินค้าประเภทที่มีเครื่องปรับอากาศ มีการปรับอุณหภูมิในตู้ ซึ่งทำตามมาตรฐานต้องสามารถปรับอุณหภูมิได้อย่างน้อย –18 องศาเซลเซียสโดยเครื่องทำความเย็นนี้อาจติดอยู่กับตู้หรือมีปลั๊กใช้กระแสไฟฟ้าเสียบจากนอกตู้ ซึ่งจะต้องมีที่วัดอุณหภูมิแสดงให้เห็นสถานะของอุณหภูมิของตู้สินค้า

3) Open Top เป็นตู้ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องเป็น 40 ฟุต โดยออกแบบมาไม่ให้มีหลังคา สำหรับใช้ในการวางสินค้าขนาดใหญ่ เช่น เครื่องจักร ซึ่งไม่สามารถขนย้ายผ่านประตู้ได้

4) Flat-rack เป็นพื้นราบมีขนาดกว้างและยาว ตาม Size ของ Container มาตรฐาน เป็นตู้คล้าย Container ที่มีแต่พื้น Platform สำหรับใส่สินค้าลักษณะพิเศษ เช่น เครื่องจักรประติมากรรม, รถแทรกเตอร์ เพื่อให้สามารถจัดเรียงกองในรูปแบบที่เป็น Slot ซึ่งเป็นลักษณะเรือที่เป็น Container ที่มา http://www.sme.go.th/

คำถามที่พบบ่อยด้านคลังสินค้า

สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง หรือ Inland Container Depot (ICD) หมายถึง

สถานที่ที่มีอุปกรณ์ อำนวยความสะดวกต่างๆ พร้อมจะให้บริการแก่ผู้ส่งออก ผู้นำเข้าและบุคคลทั่วไปในการดำเนินพิธีการเกี่ยวกับสินค้าที่ยังคงอยู่ภายใต้อารักขาของศุลกากรก่อนนำสินค้าเหล่านั่งส่งออก หรือส่งต่อไปยังประเทศอื่น หรือ สถานีที่ทำกิจกรรมทุกอย่างสินค้าขาเข้า และสินค้าขาออกแทนท่าเรือบก

Container Yard หรือ CY หมายถึง

ลานที่เก็บตู้คอนเทนเนอร์ทั้งตู้เปล่า และตู้ที่บรรจุสินค้าแล้ว ลานนี้ตั้งอยู่ภายในบริเวณท่าเรือ หรือสถานีขนส่งสินค้า ตู้ที่บรรจุสินค้าแล้วจะถูกเก็บไว้ใน CY เพื่อรอการขนตู้ขึ้นเรือคอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือต้นทางเพื่อส่งออกต่อไป และ ในทางกลับกันสำหรับการนำเข้าเมื่อเรือคอนเทนเนอร์เดินทางมาถึงท่าเรือปลายทางตู้ที่บรรจุสินค้ามาด้วยก็จะถูกยกลงและขนไปเก็บไว้ที่ CY เพื่อรอให้ผู้นำเข้ามาลากตู้ออกไปที่โรงงานตนเองเพื่อนำสินค้าออกจากตู้ต่อไป บริษัทเรือหรือผู้ขนส่งจะรับผิดชอบตั้งแต่ท่าเรือต้นทาง ไปยังท่าเรือปลายทางเท่านั้น โดยจะขนตู้ขึ้นและลงเรือและนำไปพักไว้ที่ ลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ ผู้ส่งออกจะรับผิดชอบในการนำสินค้าบรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์ที่โรงงานของตนเองแล้วลากตู้ที่บรรจุสินค้าเต็มตู้แล้วกลับมาคืนบริษัทเรือที่ลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์เพื่อรอขนขึ้นเรือเพื่อการส่งออกต่อไป ผู้นำเข้าจะรับผิดชอบในการลากตู้สินค้าที่บรรจุสินค้ามาเต็มตู้จากลานเก็บตู้ไปที่โรงงานของตนเองเพื่อทำการเปิดตู้และนำสินค้าออกจากตู้ แล้วลากตู้เปล่าที่เอาสินค้าออกจากตู้แล้วไปคืนบริษัทเรือที่ลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์

คลังสินค้าทัณฑ์บน หมายถึง

คลังสินค้าซึ่งใช้เป็นที่ตรวจของและเก็บรักษาของที่นำเข้าโดยให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ส่งออกให้ได้รับการงดเว้นการเก็บอากรขาเข้าและขาออกแก่ของที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ และเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อส่งออกไปยังนอกประเทศ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะส่งออกในสภาพเหมือนเดิมที่นำเข้าหรือในสภาพที่ได้ผลิต ผสม หรือประกอบเป็นอย่างอื่นตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของคลังสินค้าทัณฑ์บนซึ่งตั้งขึ้นตามมาตรา 8 และมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469

คลังสินค้าทัณฑ์บน มีกี่ประเภท

มี 8 ประเภท

• คลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป

• คลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า

• คลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปสำหรับจัดแสดงสินค้าหรือนิทรรศการ (คสท)

• คลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปสำหรับเก็บน้ำมัน

• คลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับอู่ซ่อมหรือสร้างเรือ

• คลังสินค้าทัณฑ์บนบนประเภทร้านค้าปลอดอากร

• คลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อเก็บของสำหรับร้านค้าปลอดอากร

• เขตคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับประกอบการค้าเสรีปลอดจากภาระทางภาษีอากร

เขตปลอดอากร (Free Zone) หมายถึง

เขตพื้นที่ซึ่งอธิบดีกรมศุลกากรอนุมัติให้จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 97 ตรี แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 8 แห่ง พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2543 สำหรับการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่น ที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ โดยของที่นำเข้าไปในเขตดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งการจัดตั้งเขตปลอดอากรดังกล่าว สามารถกระทำได้โดยขออนุมัติต่ออธิบดีกรมศุลกากรเท่านั้น จึงมีความสะดวกรวดเร็วและเป็นหลักการที่มีความสอดคล้องกับหลักสากลดังที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญาเกียวโตขององค์การศุลกากรโลก จึงเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกอีกทางหนึ่งที่จะเลือกใช้ให้เหมาะสมกับกิจการของตนได้

คำถามที่พบบ่อยด้านห่วงโซ่คุณค่า

การทำ Value Chain เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ (Productivity) และสร้างความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะทำให้ธุรกิจสามารถตอบสนองต่อกลไกหรือปัจจัยอะไรบ้าง

สามารถตอบสนองได้ 6 ปัจจัย

• การตลาดและการแข่งขันระดับโลก (World Class Marketing)

• การขนส่งระหว่างประเทศ (International Transport)

• กฎเกณฑ์การค้าโลก (Globalization Rule & Trading Systems)

• กระบวนการที่เกี่ยวกับเขตแดน (Territory Procedure)

• กฎหมายระหว่างประเทศ (International Law)

• การบริหารการเปลี่ยนแปลงของโลก (Global Change Management)

คำถามที่พบบ่อยด้านอื่นๆ

ต้นทุนโลจิสติกส์ มีกี่ส่วน ประกอบด้วยอะไรบ้าง

ต้นทุนโลจิสติกส์ มี 4 ส่วน ประกอบด้วย

• ต้นทุนการขนส่งสินค้า (Transportation Cost)

• ต้นทุนการถือครองสินค้า (Inventory Cost)

• ต้นทุนการบริหารคลังสินค้า (Warehousing Cost)

• ต้นทุนการบริหารจัดการ (Administration Cost)

โลจิสติกส์แบบบูรณาการหรือแบบหนึ่งเดียวกัน (Integration Logistics) จะต้องให้ความสำคัญกับการจัดการกิจกรรมสำคัญที่เรียกว่าอะไร

การจัดการกิจกรรมสำคัญเรียกว่า RIMS ประกอบด้วย

• การจัดการความสัมถพันธ์ (Relations)

• ข้อมูลสารสนเทศ (Information Technology)

• วัตถุดิบและสินค้า (Materials Management)

• ผู้ให้บริการ (Services Provider หรือ Outsources)

ระบบพิกัดอัตราอากร (Harmonized System) หมายถึง

เป็นระบบการจำแนกประเภท และระบุชนิดสินค้าด้วยรหัสตัวเลข 6 หลัก ซึ่งประกาศใช้โดยคณะมนตรีพิกัดฯ ขององค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization) การจำแนกพิกัด สามารถแบ่งออกเป็น 21 หมวด 97 ตอน โดยประเทศไทยได้ปรับมาใช้ระบบพิกัดตัวเลข 8 หลัก (ประเภทพิกัดย่อย) ปี 2550 เพื่อให้สอดคล้องกับระบบพิกัดฮาร์โมไนซ์ของอาเซียน (CEPT Code)

หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง